โรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 ซึ่งเดิมโรงพยาบาลแห่งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในสมัยนั้น มีนโยบายพัฒนาศักยภาพเป็นโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยใช้ชื่อในขณะนั้นว่าโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา 2 ซึ่งได้เปิดอย่างเป็นทางการ โดยท่าน นพ.ปราชญ์ บุญยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2550 ด้วยความร่วมมือจากบุคลากรของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลสงเสริมสุขภาพแต่ด้วยความจำกัดของพื้นที่ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพที่ไม่อาจขยายรองรับโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิและมีผลกระทบต่อพันธกิจและงานเดิมของศูนย์อนามัยที่ 5 จึงมีแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนสถานที่ดำเนินการของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา 2 การดำเนินการช่วงเวลาต่อมา นพ.มล.สมชาย จักรพันธ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต มอบพื้นที่ให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ด้วยความเหมาะสมตามสภาพภูมิศาสตร์ และการกระจายประชากรของ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา 2 ได้พิจารณาขอใช้พื้นที่ศูนย์จิตสังคมบำบัด โรงพยาบาลจิตเวชนคราชสีมาราชนครินทร์ ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวางถึง 56 ไร่ ตั้งอยู่ริมถนนมิตรภาพห่างจากศูนย์อนามัยที่ 5 ไม่ไกลนัก เป็นพื้นที่ซึ่งได้พัฒนาสำหรับให้บริการด้านจิตเวชแล้วบางส่วน ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีความเห็นพ้องต้องกันว่าโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิควรอยู่ในพื้นที่นี้ การก่อสร้างโรงพยาบาลในขณะนั้น เพื่อพัฒนาเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ขนาด 200 เตียง และอาจขยายจำนวนเตียงเพิ่มขึ้นในระยะต่อไปโดยใช้หลักของ GIS ระบบเครือข่ายการส่งต่อผู้ป่วยของจังหวัดนครราชสีมา โดยได้รับอนุมัติงบประมาณก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุ 5 ชั้น วงเงิน 141 ล้านบาท และในปีต่อมาโรงพยาบาลได้ของบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใน 10 ชั้น รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 400 ล้านบาท การให้บริการของโรงพยาบาล ได้เปิดให้บริการการรักษาพยาบาลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยในพื้นที่รับผิดชอบ เป็นการให้บริการเฉพาะผู้ป่วยนอกตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2551 เป็นต้นมา ภายใต้การนำของผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่านแรกคือ พญ.พวงเพ็ญ อ่ำบัว ต่อมาขยายการให้บริการเป็นการรับผู้ป่วยไว้รักษาค้างคืน ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2552 จนถึงปัจจุบันได้รับอนุมัติให้เป็นโรงพยาบาลชุมชน และยกระดับพัฒนาเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ในปีงบประมาณ 2556 และเมื่อได้รับการอนุมัติจากสำนักงานข้าราชการพลเรือนแล้ว จะเพิ่มขนาดเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ระดับ 3.1 ต่อไปในอนาคต ปัจจุบัน การบริหารจัดการภายในของโรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมา แบ่งเป็น ระบบรักษาพยาบาลและระบบสนับสนุนบริการ ระบบรักษาพยาบาลมุ่งให้ความสำคัญของการพัฒนาโรงพยาบาลเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ระดับ M1 มีศักยภาพการดูแลผู้ป่วยในสาขาสูติ-นรีเวชกรรม ศัลยกรรม อายุรกรรมกุมารเวชกรรม และศัลยกรรมกระดูก ตาม Service Plan และข้อตกลงร่วมกันของ Node ส่วนระบบสนับสนุนบริการบริหารจัดการเพื่อลดช่องว่างต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อระบบรักษาพยาบาลและการบริหารจัดการตามระเบียบของทางราชการ ตามมติของคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมา ได้ร่วมวางแผนจัดการระบบให้รวดเร็ว ถูกต้อง เป็นรูปธรรม และสื่อถึงการอำนวยความสะดวกของระบบงานที่คล่องตัว และการพัฒนาและขยายบริการขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยการสนับสนุนอย่างเต็มที่ของผู้นำชุมชนตำบลโคกกรวด โดยในปัจจุบันได้ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเป็นอย่างดี โดยดูได้จากสถิติการให้บริการที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมมีผู้ป่วยประมาณ 20 คน ต่อวัน เป็นในปัจจุบันเฉลี่ยประมาณวันละ 200-300 คน ต่อวัน สำหรับผู้ป่วยใน เปิดให้บริการเต็มศักยภาพภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 นี้ ซึ่งน่าจะช่วยแบ่งเบาความแออัดของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา สมดังนโยบายของจังหวัดนครราชสีมาและกระทรวงสาธารณสุขที่ตั้งไว้ |